ประวัติความเป็นมาของดอกไม้จันทน์
ดอกไม้จันทน์ – ไม้จันทน์ (Sandalwood) มีการเริ่มใช้ในพิธีศพมาตั้งแต่ สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในสมัยนั้นรูปแบบการใช้ จะใช้เป็นท่อนไม้จันทน์ทั้งท่อน ไม่ได้ใช้เป็นดอกไม้จันทน์เหมือนปัจจุบันนี้ โดยการใช้ต้นไม้จันทน์ในพิธีศพจะใช้ในกลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายชั้นสูงเท่านั้น มิได้ใช้ในคนสามัญทั่วไป
เนื่องจากไม้จันทน์เป็นไม้หายาก มีราคาสูงและจัดเป็นไม้ชั้นสูงที่มีไว้ใช้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพเจ้า ซึ่งการใช้ไม้จันทน์ร่วมในพิธีศพจะมีการใช้ตั้งแต่นำมาทำโลงศพ ใช้เป็นเครื่องสักการะที่จุดระหว่างพิธีศพ ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเผาศพและใช้ทำ โกศ สำหรับบรรจุศพด้วย
ตามความเชื่อของคนโบราณ ที่กล่าวว่ากลิ่นหอมของไม้จันทน์จะช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้ายที่จะเข้ามาทำร้ายดวงวิญญาณของผู้ตาย และความเชื่ออีกอย่างหนึ่งคือการเผาไม้จันทน์รวมกับเครื่องหอมชนิดอื่น เช่น กำยาน ยังเป็นการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพเจ้า ที่จะช่วยนำทางให้กับดวงวิญญาณของคนตายได้ไปสู่สรวงสวรรค์ด้วย
ตามหลักวิทยาศาสตร์ได้มีการสันนิษฐานว่า การที่ใช้ไม้จันทน์ในพิธีศพก็เพื่อเพิ่มกลิ่นหอมให้กับพื้นที่โดยรอบ เนื่องจากในอดีตยังไม่มีการฉีดยาเพื่อยับยั้งการเน่าของศพ ดังนั้น ศพจึงเกิดการเน่าและส่งกลิ่นเหม็น จึงนิยมใช้ไม้จันทน์ที่มีกลิ่นหอมมาเป็นตัวช่วยในการกลบกลิ่นศพ ด้วยการทำเป็นโลงบรรจุศพ การจุดระหว่างที่ทำพิธีศพและใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาศพ เพื่อที่กลิ่นหอมของไม้จันทน์จะช่วยกลบกลิ่นเน่าของศพ ทำให้ผู้ที่ไปร่วมงานศพไม่ได้กลิ่นเหม็นของศพนั่นเอง
จุดเริ่มต้นของการใช้ดอกไม้จันทน์ในสามัญชน
การใช้ไม้จันทน์ในพิธีศพยังคงใช้กันสืบต่อในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายชั้นสูงเรื่อยมา ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ต้นจันทน์หรือไม้จันทน์ที่มีอยู่มีจำนวนน้อยลงและหายากมากขึ้น กรมพระยาดำรงราชนุภาพจึงได้มีการคิดค้นการทำดอกไม้จันทน์เทียมขึ้น เพื่อใช้ทดแทนการใช้ไม้จันทน์ซึ่งหาได้ยากมาใช้ในพิธีศพแทน โดยลักษณะของ ดอกไม้จันทน์เทียม จะมีลักษณะคล้ายดอกไม้ ซึ่งดอกไม้นี้ทำจากไม้จันทน์แผ่นบาง ๆ มามัดรวมกันให้เป็นช่อ เพื่อใช้ในพิธีศพแทนไม้จันทร์ที่เป็นท่อน ๆ แทน แต่การทำดอกไม้จันทน์เทียมก็ยังใช้ไม้จันทน์ในการผลิต ถึงแม้จะมีการใช้ในปริมาณที่น้อยลง ซึ่งรูปแบบของดอกไม้จันทน์เทียมนี้ ได้แพร่ขยายมาสู่สามัญชนมากขึ้น จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการวางดอกไม้จันทน์ในหมู่คนธรรมดาสืบต่อมานั่นเอง ไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายชั้นสูงเท่านั้น และในปัจจุบันนี้การวางดอกไม้จันทน์หน้าจิตกาธานหรือเชิงตะกอนเผาศพ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับทำการเผา ได้เปลี่ยนมาเป็นการวางดอกไม้จันทน์ที่หน้าโลงศพบนเมรุ หรือที่เรียกว่าเผาหลอก ก่อนที่จะทำการเผาศพจริงในเมรุหลังจากที่ทำการวางดอกไม้จันทน์เสร็จสิ้น
เมื่อจำนวนความต้องการใช้ดอกไม้จันทน์เพิ่มขึ้น แต่ปริมาณของไม้จันทน์ที่มีอยู่น้อยลง ทำให้มีการพัฒนานำไม้ชนิดอื่น เช่น ไม้โมก ไม้มะม่วงป่า และไม้จามจุรี เป็นต้น หรือวัสดุชนิดอื่นๆ เช่น ซังข้าวโพด หรือกระดาษ มาใช้ในการผลิตดอกไม้จันทน์แทน ถึงแม้ว่าวัสดุที่ใช้ในการผลิตจะต่างกัน แต่ จุดประสงค์หลักของการใช้ดอกไม้จันทน์ในงานศพก็ยังคงเดิมคือ การแสดงความเคารพ ความไว้อาลัยและการขอขมาต่อผู้ตาย เช่นเดิม
Cr.nippangift.com
ล่าสุด